3 วัน เที่ยวมันส์ 3 อำเภอ ที่อุบลราชธานี ทริปนี้ต้องมีซ้ำ
วันนี้ Little Angel ออกเดินทางจากกรุงเทพ มุ่งหน้ามา จ.อุบลราชธานี มาอุบลราชธานีก็หลายครั้ง แต่ก็ยังมีหลายสถานที่ที่ยังไม่เคยไป มาทริปนี้ตั้งใจเที่ยวอุบล 3 วัน ลุยเที่ยวกันเพลินๆ สัก 3 ชุมชน อยากเห็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป และเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านแบบเคาะหน้าประตูชุมชนกันสักหน่อย วันแรกเราตั้งใจมั่งหน้าไปที่อำเภอด้านบนๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี นั่นคือ อำเภอตระการพืชผล นั่นเอง และปักหมุดจุดเชคอินแรกไว้ที่ชุมชนบ้านเกษม ไปดูกันว่าที่ชุมชนนี้จะเกษมสำราญ เบิกบานกันทั้งชุมชนแค่ไหน
9 ไฮไลท์เด็ดต้องเชคอิน
ที่ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านเกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสแวะมาเที่ยวที่ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผล ตำบลนี้เหมือนเป็นชุมชนเล็กๆ แต่คาดไม่ถึงเลยว่าจะมีที่เที่ยวและ OTOP ที่น่าสนใจ และที่สำคัญที่สุด คนที่ชุมชนแห่งนี้ น่ารัก ยิ้มแย้ม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นกันเองมาก
เราตั้งใจมาเที่ยวกันแบบสบายๆ หรือพูดง่ายๆ ไม่ได้วางแผนอะไรมากเลย ที่เที่ยวเหรอ มีอะไรบ้างยังไม่รู้เลย หวังน้ำบ่อหน้ามาถามชาวบ้านอย่างเดียว แต่ก็ไม่ผิดหวัง เราขับรถมาจนถึงบ้านเกษม มาถึงจุดแรกก็ต้องร้องว้าว แวะจอดทันที เพราะสิ่งที่เราเห็นคือ กล่องข้าวขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในศาลา บริเวณจุดเช็คอินของบ้านเกษมที่มีการจัดตกแต่งรอให้นักท่องเที่ยวไปถ่ายภาพเก็บไว้ที่ระลึก จะรอช้าอยู่ใย ลงไปแชะภาพทันที แค่จุดแรกก็ประหลาดใจแล้วว่า ชุมชนเล็กๆ แต่กลับมาสัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์เป็นกล่องข้าวยักษ์ แถมบอกว่า “กล่องข้าวนี้ใหญ่ที่สุดในโลก”
เมื่อแชะภาพจนหนำใจ เราก็เริ่มมองหาที่ไปต่อ และก็ไปเจอกับป้ายบอกทางชี้ไปยังที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ไม่ไกลกันจากจุดแสดงกล่องข้าวยักษ์ มีเยอะจนเราเริ่มกันไม่ถูกเลย ต้องระดมสมองมองซ้ายขวา แว้บไปเห็นชาวบ้าน จึงรีบเข้าไปทักทายสอบถามเส้นทาง ได้รับคำแนะนำให้เราเริ่มไปเที่ยวบริเวณถนนสายวัฒนธรรมเป็นที่ถัดมา ซึ่งถนนสายวัฒนธรรมนี้หาไม่ยากเลย ขับรถตรงมาอีกนิดจะเห็นถนนที่ประดับประดาไปด้วยธงสีสันสวยงาม เรียงรายริ้ว ปลิวละล่องตามแรงลม นี่คือ ถนนสายวัฒนธรรม ที่ชุมชนบ้านเกษม นั่นเอง ที่นี่จะใช้เป็นที่ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า โดยชาวบ้านจะใส่ชุดพื้นเมือง ผู้หญิงจะนุ่งซิ่นที่ทอเอง ใส่เสื้อผ้าไทยพร้อมพาดสไบออกมาทำบุญ ส่วนผู้ชายจะนุ่งผ้าทอคล้ายโสร่งพร้อมผ้าคาดเอว เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเกษมที่ต่างพร้อมหน้าพร้อมตาแต่งกายด้วยผ้าทอของชุมชนออกมาทำบุญตักบาตร เด็กๆก็ใส่ผ้าไทยออกมาด้วยเช่นกัน บริเวณถนนสายวัฒนธรรมนี้จึงเป็นจุดรวมหรือเป็นเหมือนลานกิจกรรมที่เป็นศูนย์รวมของคนทั้งหมู่บ้าน
และบริเวณถนนสายวัฒนธรรมนี้ยังเป็นที่ตั้งของ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านเกษม จุดนี้ถือเป็นจุดที่ 3 ที่ต้องห้ามพลาด เพราะเราจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตการทอผ้าไทยที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ โดยเราได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ คำสิงห์ ศรีมาบุตร ผู้ใหญ่บ้านเกษม พาเราเดินชมการทอผ้าทีละขั้นตอน ทอมือเห็นๆ เพราะมีคุณตาคุณยายนั่งปั่นด้ายบ้าง ทอบ้าง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พุดคุยกับนักท่องเที่ยวด้วยความสนุกสนาน ผ้าทอที่บ้านเกษมมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง มีชื่อเรียกลายผ้าว่า “ลายทิว” หรือ “ลายเกี้ยวก้น” พอพูดจบก็หัวเราะกันออกมา เพราะขำชื่อลาย แถมมีพี่ท่านหนึ่งเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ตอนมาเริ่มทำหน้าที่เป็นพัฒนาชุมชนที่บ้านเกษมใหม่ๆ มีคนบอกชื่อลายเกี้ยวก้น ยังคิดว่า โดนแซว ถึงขั้นทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน แต่พอเข้าใจความหมาย ถึงกับร้องอ๋อ หายเคืองอารมณ์ไปได้ พวกเราฟังแล้วก็ขำตามกันไปด้วย จากนั้นผู้ใหญ่จึงเริ่มเล่าให้เราฟังต่อว่า ผ้าที่กำลังทอ ทอเพื่อให้ใช้งานจริง สามารถสั่งสี ขนาด ได้ตามที่ต้องการ โดยต้องแจ้งล่วงหน้า และที่กำลังเร่งมือทอกันอยู่ตอนนี้ เพราะมีโรงเรียนชุมชนบ้านเกษมสั่งทอเป็นสีเขียว-ขาว ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียน สั่งทอเพื่อใช้สำหรับตัดเป็นเสื้อผ้าไทยให้สำหรับนักเรียนใส่มาโรงเรียนในวันศุกร์ ตามนโยบายของรัฐบาล นักเรียนที่นี่ จึงได้ใส่ผ้าทอฝีมือของคนชุมชนบ้านเกษมโดยแท้จริง จากนั้นคุณลุงผู้ใหญ่ยังสาธิตวิธีการแต่งกายด้วยผ้าทอ สำหรับเวลาผู้ชายมาทำบุญหรือทำกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เราได้ดูวิถีชีวิตการแต่งกายพื้นบ้านของบ้านเกษมอีกด้วย ดูเพลินแต่ก็ไม่ลืมช้อปผ้าทิวกลับมาฝากแม่ เจอของดีมีหรือจะพลาด ราคาสไบเริ่มต้นเพียง 200 บาท ซิ่นที่เย็บพร้อมใส่ก็แล้วแต่ชนิดของผ้า ถ้าเป็นผ้าไหม ก็ประมาณพันกว่าบาท ถ้าเป็นผ้าทิวก็ประมาณหลักร้อย สุดท้ายก็สอยกันมาคนละผืนสองผืน คุ้มสุดๆ
ที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านเกษม ยังมีของดีที่ไม่ควรพลาดอีกหลายอย่าง แต่สิ่งที่ขึ้นชื่อและต้องแวะมาดูอีกจุดคือ “วิสาหกิจชุมชน ข้าวกล้องงอกเพื่อสุขภาพบ้านเกษม หมู่ที่ 1,8,9” ที่นี่เป็นแหล่งผลิตข้าวกล้องงอกคุณภาพดี ฝีมือของชาวบ้าน ที่ได้มาตรฐานการผลิตและจัดจำหน่าย กลายเป็น “เครื่องดื่มข้าวกล้องงอก ชนิดผงพร้อมชง” หรือ GABA RICE เป็นอีกหนึ่ง OTOP ชื่อดังของบ้านเกษม และมีการพัฒนาปรับปรุงรสชาติให้ทันสมัย จนปัจจุบัน มีทั้งรสดั้งเดิมและรสโกโก้ มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ มี GABA สูง, มีวิตามิน E และช่วยลดอาการวัยทอง คุณประโยชน์มากมายขนาดนี้ ต้องมีติดมือกลับมาบ้านกันแน่ แต่ตอนนี้ของขาดตลาดมากๆ อยากได้จำนวนมาก แนะนำให้สั่งก่อนล่วงหน้า
มาถึงจุดที่ 5 ที่ต้องแวะมาเยือน แหล่งผลิตกล่องข้าวที่เราเห็นตรงบริเวณจุดเช็คอิน อยากเห็นของจริง วิธีการทำทีละขั้นตอน ต้องมาที่นี่ “กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ไผ่ ม.9” ได้มาเห็นคุณตาและเด็กนักเรียนก้มหน้าก้มตามือหนึ่งยก มือหนึ่งสาน แต่ใบหน้ายิ้มแย้มพูดคุยสนทนากันอย่างสนุกสนาน ไม่รอช้า เข้าไปถามเข้าไปดู พร้อมพูดคุยจนได้ความว่า ที่นี่ “กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ไผ่ ม.9” เป็นกลุ่มหัตถกรรมไม้ไผ่ทำเครื่องจักรสาน และที่เด่นที่สุดคือ การสาน “กล่องข้าว” ลักษณะคล้ายกระติ๊บ แต่รูปทรงคนละแบบ ชาวบ้านบอกว่า ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องเรียกว่า “ก่องข้าว” ไม่มี ล ลิง ควบกล้ำ ถึงจะเป็นของแท้ของบ้านเกษม ที่นี่ทำก่องข้าวหลายขนาด ตั้งแต่เล็กเท่าหัวแม่มือ จนถึงใหญ่เท่าตัวคนก็มี สั่งได้อยากได้ขนาดไหน มองไปอีกมุมหนึ่งของ กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ไผ่ ม.9 ก็เห็นนักเรียนก้มหน้าก้มตาทั้งมัด ทั้งสาน หรือขีดเขียน โชคดีอีก ได้เจอกับอาจารย์เทอดเกียรติ อมตะเวทิน อาจารย์ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเกษมสีมาวิทยาคาร อาจารย์ผู้ซึ่งนำวิธีการสานไม้ไผ่เข้าบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ทำให้นักเรียนได้สืบทอดงานศิลปหัตถกรรมอย่างมีระบบ และพัฒนารูปแบบอย่างหลากหลาย จากก่องข้าวที่สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นกระเป๋าสานสวยงามทั้งสีสันและรูปร่าง และยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย เช่น พวงกุญแจตระกร้อไม้ไผ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของฝากให้นักท่องเที่ยวได้จดจำนักตะกร้อคนดังของบ้านเกษมได้มากขึ้น
อีกจุดใกล้กัน นัดเป็นจุดท่องเที่ยวจุดที่ 7 ที่ต้องห้ามพลาด เป็นแหล่งรวมงานศิลป์ ประวัติศาสตร์ แหล่งรวมความรู้อันทรงคุณค่า ที่หาได้ยาก ที่นี่ไม่ใช่แค่ศาลาวัด แต่ที่นี่คือ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ บ้านเกษม” ที่นี่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาในวัดและเจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ ที่ท่านได้รวบรวมของเก่า และจัดเก็บอย่างเป็นระบบระเบียบจากของน้อยชิ้นจนปัจจุบันไม่ต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานทางประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้เข้ามาชม และบ่อยครั้งที่นี่กลายเป็นแหล่งรวมข้อมูลให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกได้มาศึกษาของเก่า ประวัติศาสตร์ต่างๆ มากมาย
ถัดจากศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ บ้านเกษม ไม่ถึง 100 เมตร เราจะได้เจอกับอีกจุดท่องเที่ยวจุดที่ 8 “สะพานกาญจนาภิเษก” สะพานแขวนไม้ สร้างไว้ให้ได้ไปถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก เดินต่อไปอีกนิดจะเจอทุ่ง “ปอเทือง” เล็กๆ ที่เต็มไปด้วยดอกปอเทืองชูช่อดอกสีเหลืองละลานตา สามารถเข้าไปแชะภาพเพิ่มสีสันการท่องเที่ยวบ้านเกษมให้ยิ่งสดใส
ปิดท้ายด้วยจุดที่ 9 ชมต้นยางนาที่ใหญ่ที่สุด สูงสุดหูสุดตา โอบเกือบ 5 คนไม่มิด เป็นจุดเช็คอินอีกจุดที่คุณไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านเกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี มีคนกล่าวไว้ว่า ถ้ามาบ้านเกษมแล้วไม่ได้ถ่ายภาพต้นยางนาต้นนี้ เหมือนมาไม่ถึง มีหรือเราจะพลาดเก็บภาพมาฝากทุกคนแน่นอน ต้นยางนาต้นนี้ เมื่อปี 2560 ได้รับคัดเลือกว่า เป็น “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” อีกด้วย ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
การท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านเกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ทำให้เราได้สัมผัสทั้งวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนอย่างใกล้ชิด ได้สัมผัสทั้งศิลปวัฒนธรรม และได้ท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติที่หายาก ที่สำคัญแต่ละสถานที่อยู่ไม่ไกลกัน ทำให้เที่ยวง่าย ไม่เร่งรีบ วันเดียวเที่ยวครบรสมาก
1 เดย์ทริป กับที่เที่ยวสุดชิค
ที่ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี เราแวะเที่ยวที่ตำบลชีทวน ซึ่งตำบลนี้เราจะเที่ยวแบบ 1 Day Trip วันเดียว ขอให้คอนเซ็ปการเที่ยววันนี้ว่า “เที่ยววัดดัง ช้อปผ้าดี มีขอโชค ชมโลกโบราณคดี ที่สุดของวิวธรรมชาติสวย”
ไม่เสียเวลาเกริ่นนาน เริ่มตะลุยเขื่องในกับสถานที่ต้องห้ามพลาดที่แรกที่ต้องไปเยือน นั่นคือ “วัดทุ่งศรีวิไล” วัดดังของตำบลชีทวนที่ดังไกลไปทั้งประเทศ วัดนี้ที่เป็นประดิษฐานของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ “หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ” กล่าวขานกันว่า หากอยากได้งานดี มีความเจริญรุ่งเรืองด้านการงาน ต้องมาที่วัดนี้ เราได้เดินชมวัดและบริเวณวัดที่สร้างอาคารต่างๆ เพื่อไว้อำนวยความสะดวกหรือไว้ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ศาลาสำหรับการประชุมหมู่บ้าน อาคารพักสำหรับผู้มาวิปัสสนากรรมฐาน อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ ซึ่งทั้งหมดท่านเจ้าอาวาส “พระเทพปัญญามุนี” เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพมหานครและวัดทุ่งศรีวิไล อุบลราชธานี ทำให้เราได้เห็นวัดที่เป็นทั้งสถานที่เผยแผ่ศาสนา และสถานที่เพื่อประโยชน์ของคนในหมู่บ้าน
ไหว้พระขอพร พร้อมเดินชมบรรยากาศอันแสนร่มรื่นภายในวัดแล้ว เรายังไม่ไปไหนต่อ เพราะเรามีนัดกับชาวบ้านที่ทำ OTOP น่ารักๆ และกำลังจะเป็นของที่ระลึกของฝากขึ้นชื่อแบบใหม่ล่าสุดของตำบลชีทวน อยากรู้ว่าเป็นอะไรไปดูกันเลย นี่คือ “สาวน้อยชีทวน”
ตุ๊กตาสาวน้อย นุ่งซิ่น แต่งผ้าไทย นี่คือ สินค้า OTOP ใหม่ล่าสุดของตำบลชีทวน โดยฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านชีทวน น่ารักขนาดนี้ทำให้เราเห็นแล้วต้องวิ่งเข้าใส่ ทั้งจับ ทั้งดู พร้อมเอ่ยเสียงชื่นชมไม่ขาดปากว่า น่ารักมากมาย จนต้องถามถึงแนวคิดของการทำ สาวน้อยชีทวน ให้เป็น OTOP ใหม่ล่าสุดของชีทวนแห่งนี้ เหล่าพี่ๆแม่บ้านจึงได้เล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนานว่า ที่ชีทวน ส่วนใหญ่อาชีพหลักคือจะทำนา หลังจากทำนาเสร็จก็จะมีเวลาว่าง ดังนั้นจึงใช้เวลาว่างจึงอยากหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ประกอบกับเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดครม.สัญจร มาที่ตำบลชีทวน และได้แนะนำให้กลุ่มแม่บ้านนำผ้าทอมาสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึกของตำบลชีทวน จึงได้ระดมสมองจนคิดประดิษฐ์สาวน้อยชีทวน นุ่งซิ่นห่มไทย ขึ้น ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่สาวน้อยชีทวน ก็น่ารักสดใส ใครเห็นก็ต้องอยากได้เป็นของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้าน ราคาตัวละเพียง 69 บาท สำหรับแบบบรรจุซอง แต่ถ้าให้จัดใส่กล่องพลาสติกสวยงาม ก็ราคาเพียง 99 บาท คุ้มมาก กลุ่มแม่บ้านชีทวนยังทิ้งท้ายว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นยังต้องมีการพัฒนาสาวน้อยชีทวนให้ทันสมัยกว่านี้ เอาใจช่วยนะคะ
จากนั้นเราจึงเริ่มไปเส้นทางเที่ยว 1 Day Trip จุดถัดไป บอกเลยว่า ชีทวนเที่ยวง่าย วัดอยู่ใกล้กันมาก เส้นทาง 1 Day Trip ออกแบบมาได้ดี เที่ยวแบบวงกลม ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาวนรถไปมา และแล้วเราก็มาถึง อีกหนึ่งวัดดัง มีสถูปหรือเจดีย์ที่มีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม นั่นคือ “พระธาตุสวนตาล” ณ วัดธาตุสวนตาล เจดีย์ที่เห็นนี้เป็นเจดีย์องค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิม เนื่องจากเจดีย์องค์เดิมมีการพังทลายลงเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2518 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชาในปีนั้น ก่อนพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม จะพังทลายในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ซึ่งห่างกันเพียง 18 วัน ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์และเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันมานานในเรื่องนี้ ใครอยากเห็นเจดีย์องค์เก่า สามารถเข้าไปดูด้านล่างของเจดีย์องค์นี้ จะมีช่องเปิดให้เข้าไปดูได้ แต่จะมืดและอากาศจะน้อย
ในบริเวณวัดธาตุสวนตาล ไม่ได้มีเพียงเจดีย์พระธาตุสวนตาลที่เป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แต่ยังเป็นที่ตั้งของเรือขุดโบราณ เรือที่ทำจากไม้ตะเคียนหินต้นเดียว กลายเป็นเรือ 1 ลำ มีขนาดความกว่าง 2.70 เมตร ยาว 24 เมตรและมีอายุมากถึง 300 ปี สันนิษฐานกันว่า สมัยก่อนบริเวณลำน้ำชีนี้เน้นเรื่องการค้าขายทางเรือ ทำให้มีเรือแวะมาที่ท่าน้ำอยู่มาก และเรือลำนี้อาจจะจมลงที่บริเวณท่าเรือแห่งนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นธรรมดา เมื่อเห็นเรือโบราณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้านหรือคนทั่วไป มักคิดถึงตัวเลข เรื่องนี้เห็นปรากฏชัดอยู่ตามลำเรือ ว่ามีร่อยรอยของแป้งแสดงความเชื่อทางเรื่องตัวเลขอยู่มากทั่วลำ อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน
หลังจากไหว้พระดูเรือเสร็จ อย่าเพิ่งรีบออกจากวัดไปไหน เพราะในบริเวณวัดธาตุสวนตาลยังมี OTOP 5 ดาว ของกลุ่มทอผ้าบ้านชีทวน ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นผ้าทอลาย “ปลาอีด” ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ผ้าทอมือฝีมือกลุ่มแม่บ้านที่ทั้งถักทอทีละเส้น มัดทีละส่วน อย่างประณีตบรรจง สำเร็จออกมาเป็นทั้ง ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าสไบ กระเป๋าถือ กระเป๋าเป้ กระเป็นใส่เหรียญ พวงกุญแจ สารพัดรูปแบบ รวมทั้งผ้าขาวม้า ที่ทอมือ เนื้อแน่นและนิ่ม กว่าผ้าทอจากโรงงาน
จากนั้นเราจึงไปต่อตามเส้นทาง 1 Day trip ของตำบลชีทวน บอกแล้วว่าที่ชีทวนวัดเยอะ และแต่ละวัดมีเอกลักษณ์ที่ต่างกัน น่าไปทุกวัน วัดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่น่ามาชม เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของ “ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก” ที่นี่คือ “วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์” ที่วัดนี้ มีจุดสำคัญที่จะต้องไปชมนอกจากการไปไหว้พระคือ การชม “ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก” งานศิลปกรรมที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับญวณ เขียนสีด้วยลายต่างๆ เป็นไม้แกะสลักเป็นบุษบกหรือปราสาท เทินบนตัวธรรมมาสน์ ส่วนด้านบนเพดานก็ไม่ธรรมดาเป็นการวาดจิตรกรรมฝ้าเพดานใช้เทคนิคเขียนสีแบบพระราชวังแวร์ซายส์ ทำให้ที่นี่ เป็นงานศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ที่มีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย ถ้าไปชีทวนต้องไปชมให้ได้
แวะมาต่อกันที่อีก 1 วัด คือ “วัดอัมพวันนาราม” วัดนี้ก็มีตำนานอีกแล้ว ที่นี่เป็นที่ตั้งของเรือโบราณ หรือชาวบ้านเรียกว่า “เรือกะแซง” ค้นพบแถวลำน้ำชี บริเวณหาดท่าหลวง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดอัมพวันนารามนี่เอง เรือลำนี้ มีความกว้าง 3.8 เมตร ความยาวจากหัวเรือถึงท้ายเรือ 26.50 เมตร มีอายุราว 100-150 ปี ไม่ธรรมดาเลย และใกล้กับที่ตั้งเรือกะแซง ภายในวัดอัมพวันนาราม ยังมีจุดชมวิวลำน้ำชี เพียงไปยืนริมลำน้ำ ก็มองเห็นโค้งน้ำอันสวยงาม และยังเป็นลำน้ำที่ไว้แข่งเรือประจำปีของชีทวนอีกด้วย
ภายในวัดอัมพวันนาราม ยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มหัตถกรรมจักรสานและทอผ้าของชุมชนบ้านชีทวนอีกแห่ง ซึ่งเน้นการจักสานเครื่องใช้ไม้สอยประจำวัน ประเภท กระบุง ตะกร้า หรือหวดนึ่งข้าวเหนียว ในแต่ละวันเหล่าบรรดาผู้สูงอายุก็จะมานั่งสทนาประสาชาวบ้านอยู่ที่นี่กันเป็นประจำ เมื่อจักรสานเสร็จ ก็จะนำไปจัดเก็บไว้บนศาลาวัดเพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ทำจากมือล้วนๆ จริงๆ
ก่อนไปต่อที่สุดท้าย ไฮไลท์เด็ดของชีทวน ก็ขอพาทุกคนแวะชมชุมชนโฮมสเตย์บรรยากาศสบายๆ มีถึง 14 บ้านที่เปิดไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว บ้างเล่าว่า มีมาพักมากถึง 30 คนต่อวัน บ้างเล่าว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาพัก ก็ส่งสำเนียงและคำพูดง่ายๆสื่อสารกัน ทั้งชุมชนโฮมสเตย์บ้านชีทวนนี้เคยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวรวมกันในครั้งเดียวมากถึง 100 คนก็เคยให้บริการมาแล้ว ดังนั้นจะหมู่คณะใหญ่เล็กที่นี่ก็สามารถจัดให้ได้หมด ค่าบริการฟังแล้วต้องตกใจ เริ่มต้นคนละ 100 บาทต่อคนต่อคืน จะจองผ่านเฟนเพจเฟซบุ๊ค “บ้านชีทวน โฮมสเตย์” ก็ได้ มีแอดมินคอยบริหารจัดการอย่างดี บรรยากาศดี อากาศดี พักโฮมสเตย์ดีดี ชีวิตก็ดี๊ดีย์ง่ายๆแบบนี้เอง
มาถึงอีกจุดที่เป็นจุดเชคอินสุดชิคของตำบลชีทวน ก็ต้องที่นี่เลย “ขัวน้อย” สะพานแห่งรักและศรัทธา ที่เมื่อมาชีทวนแล้วต้องมาเยือน อีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่จะทำให้คุณได้สัมผัสกับทุ่งนาและรวงข้าวอันเขียวขจี หรือถ้ามาช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ทุ่งข้างอันเขียวขจีก็จะกลายเป็นทุ่งสีทองที่เต็มไปด้วยรวงข้าวเหลืองอร่าม
“ขัวน้อย” สะพานที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบ้านชีทวนและบ้านหนองแคน ร่วมระดมทุนกันสร้างสะพาน เพื่อใช้ในการสัญจรไปมาระหว่างสองหมู่บ้านจะได้สะดวกขึ้น เดิมทีเป็นสะพานไม้ อายุเก่าแก่และก็มีการทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนเมื่อปี 2535 ชาวบ้านได้จัดทำผ้าป่าสามัคคี เพื่อหวังจะซ่อมแซม “ขัวน้อย” ที่มีสภาพทรุดโทรมให้กลับมาสามารถใช้งานได้ แต่เนื่องจากวัสดุเดิมเป็นไม้ซึ่งหายาก จึงได้สร้างขัวน้อยขึ้นใหม่เป็นสะพานคอนกรีต แต่สร้างในแนวขัวน้อยเส้นเดิม พูดง่ายๆ คือสร้างแนวเดิมเส้นทางโค้งเว้าเหมือนเดิมแต่วัสดุใหม่เป็นคอนกรีต โดยมีการต่อเติมเพิ่มไปเรื่อยๆ จนยาวไปถึงวัดศรีธาตุเจริญสุข รวมระยะทางขัวน้อยทั้งหมดยาวถึง 401.50 เมตร อยากรู้ว่า ขัวน้อยมีเสน่ห์แค่ไหนต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง แม้แต่ท่านนายกประยุทธ์ ยังไม่ตกเทรนด์ มีไปลงลายเซ็นต์ไว้เป็นที่ระลึกที่ขัวน้อยมาแล้ว เมื่อ 24 กรกฎาคม 2561
เที่ยวชีทวนชวนกันมา สารพัดรูปแบบที่เที่ยว สารพัด OTOP ให้ช้อปปิ้ง นอนพักอิงกายสบายๆ ที่โฮมสเตย์ แค่นี้ความสุขเป็นเรื่องหาไม่ยากอีกต่อไป
พบปราชญ์เดินดิน กินแกงนางมารร้าย ช้อปกระจายข้าวเกรียบมันเทศ มองวิว 360 องศา
ที่ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
เที่ยวสนุกมา 2 วันแล้ว วันนี้เป็นวันที่ 3 ของการเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี เรามุ่งหน้าลงทางใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้เราทำการบ้านกันมาล่วงหน้า เพราะเราอยากไปตามหาความสุขแบบบ้านๆ กับคุณลุงที่ได้รับการกล่าวขานว่า เป็น ปราญช์เดินดิน ไปดูกันว่า ความสุขที่ใครว่าหายาก แต่คุณลุงและคนในอำเภอน้ำยืน สร้างความสุขกันได้ง่ายๆ ด้วยวิถีชีวิตแบบพอเพียง
ความสุขของแต่ละคนอาจจะเหมือนหรือต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ บ้างชอบชีวิตคนเมือง บ้างชอบชีวิตเรียบง่าย บ้างชอบกิน บ้างชอบเที่ยว ล้วนแล้วแต่ตามหาความสุข แต่หากคุณได้มาเยือนที่บ้านบุเปือย คุณจะได้เห็นความสุขที่หาได้ไม่ยาก
วันนี้เรามาอยู่กันที่บ้านบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอด้านล่างของจังหวัดอุบลราชธานีที่มีการใช้ชีวิตต่างจากอำเภออื่นๆ พอสมควร หมู่บ้านแรกที่เราได้ไปเยือนคือบ้านบุเปือย แค่ไปถึงเราก็ได้เห็นความรักความสามัคคีของคนในหมู่บ้านทันที เพราะวันที่เราไปเป็น 1 วันก่อนที่จะมีการทอดกฐินสามัคคีของหมู่บ้านนี้ ทำให้ที่บ้านแห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละคนที่รู้ว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวจะไปเยี่ยมชมที่หมู่บ้านนี้ต่างแต่งกายด้วยเสื้อผ้าท้องถิ่นกว่า 10 คนเพื่อรอต้อนรับเรา ทำให้เราอดถามไม่ได้ว่า พี่ๆ จะแต่งกายแบบนี้ทุกครั้งเมื่อมีงานบุญงานสำคัญหรือต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ที่สำคัญทุกคนแต่งกายออกมาได้สวยงามพร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แม้แต่ว่าวันนั้นทุกคนจะดูค่อนข้างยุ่งกับการเตรียมความพร้อมสำหรับงานทอดกฐินในวันรุ่งขึ้น มีการแบ่งคนบางส่วนเพื่อมานำเราไปเที่ยวยังจุดต่างๆของหมู่บ้าน และบางส่วนก็ยังคงมุ่งหน้ามัดข้าวต้ม หรือเตรียมผลไม้สำหรับทำบุญในวันพรุ่งนี้ ดูแล้วอบอุ่นและอิ่มเอมเต็มไปด้วยความสามัคคีอย่างแรงกล้า เห็นพี่ๆ แต่งชุดท้องถิ่นแบบนี้มีหรือจะพลาด ต้องเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันหน่อย แต่ละคนก็ไม่เคอะเขิน พร้อมยิ้มและโพสท่า หัวใจน้อย (Mini Heart) ทันสมัยซะด้วยหมู่บ้านนี้ แค่นี้ก็เรียกรอยยิ้มจากพวกเราได้ไม่น้อยแล้ว ที่หมู่บ้านนี้จะเน้นการทำสวนผลไม้เป็นอาชีพหลัก ดังนั้นการจักสานหรืองานฝีมือต่างๆ จึงมีการทำน้อย จะมีการทำเพียงเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่เมื่อเราไปถึงพี่ๆ ก็ยังอุตส่าห์ขนเครื่องจักรสานที่มีเอามาอวดให้พวกเราได้ชมฝีมือของพี่ๆ บ้านบุเปือยว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน
จากนั้นเหล่าคณะต้อนรับก็ไม่รีรอ รีบพาพวกเราเดินมาที่จุดแสดงสินค้า OTOP ของบ้านบุเปือย ก่อนไปชมสินค้าพี่ๆก็รีบยืนเข้าที่เพื่อรอให้พวกเราถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึกอีกจุด และก็ยังโพสท่าหลากหลาย ไม่ต่างจากนางแบบมืออาชีพ พร้อมรอยยิ้มที่เบิกบานสดใสจริงๆ ส่วนแบลคกราวน์ด้านหลังที่เห็นเป็นริ้วๆ สีม่วงเหลือง นั่นไม่ใช่สาหร่ายนะคะ แต่เป็นรูปปั้นจำลองของสินค้า OTOP ของบ้านบุเปือย นั่นก็คือ ข้าวเกรียบมันเทศ นั่นเอง มาถึงถิ่นข้าวเกรียบมันเทศทั้งทีจะให้ไปช้อปเฉยๆ คงไม่หนำใจ จะต้องขอไปดูที่ผลิตและจัดจำหน่ายกันก่อน
แล้วเราก็มาถึงบ้านผู้ใหญ่หนูจร พุดผา ผู้ใหญ่บ้านคนดังของบ้านบุเปือย ที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน ถูกจัดให้เป็นแหล่งผลิตและสาธิตการทอดข้าวเกรียบมันเทศให้เราได้ดู แต่ก่อนจะเข้าบ้าน เราเหลือบไปเห็นต้นมันเทศที่ปลูกเต็มพื้นที่บริเวณหน้าบ้าน ต้นมันเทศสดๆ แต่หัวยังเล็กเลยไม่ทันได้ขุดมาอวดให้ดู ดูต้นสดๆแล้วก็ไปดูแบบที่แปรรูปสำเร็จแล้วกันต่อเลย มันเทศที่บ้านบุเปือยจะมีสองสี คือ สีเหลืองและสีม่วง ซึ่งสีม่วงเป็นมันเทศสายพันธ์มาจากประเทศญี่ปุ่น ที่บ้านบุเปือยนำมันเทศทั้งสีม่วงและเหลืองมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบมันเทศพร้อมทอด กับข้าวเกรียบมันเทศพร้อมทาน เลือกได้ตามชอบ หากคุณเลือกข้าวเกรียบมันเทศพร้อมทอด ก็ไม่ยากก่อนกิน ให้ตั้งน้ำมันร้อนปานกลาง ไม่ต้องไฟแรงมาก เพราะถ้าไฟแรงมากข้าวเกรียบจะไหม้ง่าย เดี๋ยวอดกินของอร่อย เอาแค่น้ำมันร้อนปานกลางพอ จากนั้นใส่ข้าวเกรียบมันเทศพร้อมทอดลงไป แค่พอให้ชิ้นข้าวเกรียบมันเทศพองฟูก็ให้รีบตักขึ้นพร้อมรับประทานได้ มาที่บ้านบุเปือยต้องห้ามพลาด ข้าวเกรียบมันเทศบ้านบุเปือย
ชิมข้าวเกรียบจนเพลิน จนผู้ใหญ่บ้านหนูจร ต้องมาเชิญพวกเราไปดูศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของผู้ใหญ่เอง เราก็ไม่รีรออยากไปสัมผัสวิถีชีวิตการทำสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบุเปือยอยู่แล้ว เลยรีบตามออกไป ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของผู้ใหญ่หนูจร อยู่ห่างจากบ้านผู้ใหญ่เพียง 300 เมตร ไม่นานก็มาถึง แล้วเราก็ต้องมาตะลึงกับคำว่าปราชญ์เดินดินกันสักพักว่า คืออะไร ไม่นานผู้ใหญ่บ้านหนูจรก็พาเราไปพิสูจน์ให้เห็นกับตาด้วยการเดินชมสวนที่ทำด้วยใจและแรงกายของผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง
โดยผู้ใหญ่บ้านหนูจรเล่าให้พวกเราฟังว่า ผู้ใหญ่ได้เริ่มทำสวนนี้โดยวางแผนล่วงหน้าก่อนเกษียณอายุราชการ 10 ปี โดยซื้อที่ดิน 10 ไร่ทำสวนผสมตามรอยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไม่ยืนต้น พืชผักสวนครัว และเมื่อเกษียณอายุราชการ ผู้ใหญ่บ้านหนูจรก็ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 10 ไร่ เพื่อขยายที่ดินของสวนออกไปปลูกพืชและผลไม้เพิ่มเติม และก็มีการซื้อที่ดินเพิ่มอีกรอบจำนวน 10 ไร่ ทำให้ตอนนี้ผู้ใหญ่บ้านหนูจรมีที่ดินสำหรับทำสวนผสมตามรอยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงถึง 30 ไร่ ถ้าจะให้บรรยายถึงพืชผักต้นไม้ที่ปลูกในสวนของผู้ใหญ่บ้าน ให้ท่องตามคำกลอนที่เราท่องกันตั้งแต่เด็กได้เลย มะม่วง มะไฟ มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ฟัก แฟง แตงโม ขนุน โอ้ย เยอะจริงๆ แต่ที่ทำเอาเราทั้งหมดต้องอ้าปากค้างคือ คุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร ปลูกลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ทางภาคเหนือ ปลูกใบเหลียงซึ่งเป็นผักขึ้นชื่อของทางภาคใต้ ปลูกทุเรียนซึ่งเป็นราชาแห่งผลไม้ไทย และส่วนใหญ่ปลูกทางภาคตะวันออก ดูไปดูมาทั้งสวนของคุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร ปลูกพืชผักผลไม้แทบจะครบ 77 จังหวัดในประเทศไทย มารวมไว้ที่นี่ที่เดียว และยังกระซิบบอกเราว่า ทุเรียนที่บ้านบุเปือยรสชาติดีและราคาถูกกว่าที่อื่นด้วย ด้วยความเอาใจใส่ในพืชผักผลไม้ที่ปลูกแบบไร้สารเคมี และการดูแลพัฒนาปรับปรุงต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ไว้สำหรับรดให้กับพืชผักและผลไม้ที่สวนของคุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร ส่งผลให้พืชผักผลไม้ที่สวนนี้มีรสชาติหวาน กรอบ หอม อร่อย จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว และน้ำหมักชีวภาพนี้ก็ยังถูกวางจำหน่ายในราคาถูกเพื่อให้ชาวบ้านชาวสวนต่างได้นำไปใช้กับสวนของตนเอง ในราคาเฉลี่ยลิตรละประมาณ 50 บาทเท่านั้น ไปออกร้านออกงานทีไร คุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจรขายหมดเกลี้ยงทุกที สมกับที่เป็นปราชญ์เดินดินโดยแท้
เดินได้แค่ไม่ถึงครึ่งสวนของคุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร ก็ได้เวลาเที่ยง ชาวบ้านจึงทำอาหารเลี้ยงเราด้วยอาหารพื้นบ้านของบ้านบุเปือย ถือว่าเป็นลาภปากของเราแท้ๆ เพราะเราได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้างจากฝีมือคนท้องถิ่นเลย
จานแรกเราได้ลิ้มลอง “แกงนางมารร้าย” แค่ฟังชื่อก็น่าสนใจแล้ว แกงนี้คล้ายแกงลาว มีหน่อไม้ เห็ด ต้มคล้ายแกงลาว แต่จุดเด่นที่แตกต่าง คือ ใส่ต้นหวาย ที่เก็บมาจากสวนของคุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจรนั่นเอง จานนี้ชาวบ้านยกให้เป็นเมนูเด้ดประจำหมู่บ้านเลย
มาถึงจานที่สอง “ส้มตำปูม้าดอง” มาอุบลได้กินส้มตำแล้วววววว กินกับขนมจีน แซ่บได้ใจมาก
อีกเมนูเป็น “น้ำพริกปลา” กินคู่กับใบผักเม็ง ที่เก็บมาสดๆจากคุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร พูดง่ายๆบ้านนี้ทำกับข้าว แทบไม่ต้องเสียเงินค่าซื้อผักใดๆ เพราะเก็บจากในสวนมาทำกับข้าวได้ทุกมื้อ
กินข้าวแล้วนั่งคุยกันสักพัก คุณพ่อผู้ใหญ่บ้านหนูจร ก็เล่าให้พวกเราได้ฟังถึงนักกีฬาฟุตบอลในหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับคัดเลือกให้ไปเป็นนักกีฬาภายใต้การดูแลของทีมเลสเตอร์ซิตตี้ ทำให้เราทั้งหมดต้องอ้าปากค้าง ในหมู่บ้านเล็กๆ กับมีนักกีฬาที่ไปแตะที่ต่างประเทศ และยังเป็นทีมที่มีผู้บริหารเป็นคนไทย นั่นคือ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา และที่หมู่บ้านนี้ได้มีสนามฟ้า สนามฟุตบอลที่มีมาตรฐานระดับสูงที่ได้รับการสนับสนุนจาก King Power จนกลายเป็นแหล่งรวมนักกีฬาฟุตบอลในหมู่บ้าน หรือในอำเภอน้ำยืน ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลที่สนามนี้กันเป็นประจำ แต่ในอำเภอน้ำยืนไม่ได้มีที่เที่ยวแค่ที่บ้านบุเปือยยังมีจุดอื่นๆ ที่น่าสนใจที่เราจะไปเที่ยวกันอีก ตามกันไปดูต่อที่หมู่บ้านต่อไป รับรองว่ามีอะไรเด็ดๆ ไม่น้อยหน้าบ้านบุเปือยเช่นกัน
จากบ้านบุเปือยเราแวะมาเที่ยวกันต่อที่บ้านบุกลาง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านบุเปือยนั่นเอง ที่นี่กิจกรรมหลักๆ นอกจากทำสวนผลไม้ ก็จะเป็นการทำเครื่องจักรสาน โดนเฉพาะเสื่อทอมือลวดลายสวยงาม และเครื่องจักรสานที่ใช้งานได้สารพัดอย่าง ตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสมบูรณ์แบบบ้านบุกลาง” นั่นเอง
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสมบูรณ์แบบบ้านบุกลาง เป็นศูนย์กลางหรือที่ชุมนุมสำหรับชาวบ้านมานั่งทำเครื่องจักรสาน โดยเฉพาะเสื่อทอ ที่ทอเป็นชิ้นแล้วนำมาเย็บต่อกันเป็นเสื่อพับ สีสันหลากหลาย มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ คือ “ลายปลา” นอกจากเสื้อก็ยังมีการจักรสานกระบุง ตะกร้า ชะลอม ขันโตก กระด้ง เยอะรูปแบบ รวมไปถึงเปลนอนก็มี ราคาเริ่มต้นมีตั้งแต่ 40 บาทไปจนถึงหลักพัน ตามขนาดและลวดลายที่จักรสานนั่นเอง ปัจจุบันเริ่มมีการประยุกต์เครื่องจักรสานออกมาในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้นเช่น นำกระบุงมาพัฒนาต่อยอดเป็นโคมไฟ เพิ่มรายได้และสร้างรูปแบบการนำไปใช้อย่างหลากหลาย กลายเป็นสินค้าที่ได้รับการนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากบ้านบุกลาง เราจะมีอีกหนึ่งหมู่บ้านแนะนำนั่นคือ “บ้านเกษตรสมบูรณ์” ที่หมู่บ้านนี้มีทั้งสวนผลไม้ OTOP DIY ทันสมัยรวมทั้งจุดชมวิวแบบ 360 องศาบนภูเขาไฟดึกดำบรรพ์
เริ่มจากจุดแรกที่ต้องมาแชะภาพและเชคอิน คือ รูปปั้นแก้วมังกรยักษ์ จัดวางให้ได้ไปถ่ายรูปเก๋ๆ เก็บมาอวดความอร่อยและความสมบูรณ์ของบ้านเกษตรสมบูรณ์
ก่อนไปเที่ยวตามจุดต่างๆ เราก็จะแวะมาทักทายชาวบ้านที่นั่งประดิษฐ์สินค้า OTOP ที่ยอดสั่งถล่มทลายหลายร้อยชิ้น นี่คือ ตะกร้าสานพันด้วยผ้าทอ ของแม่บ้านกลุ่มบ้านเกษตรสมบูรณ์ ทั้งสวยและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะผ้าที่พันรอบตะกร้าทุกใบ ทำมาจากผ้าทอที่มีขนาดและความยาวสามารถนำไปใช้เป็นผ้าพันคอได้จริงหลังจากใช้งานตะกร้าเสร็จแล้ว ทำให้ตะกร้าสานที่หมู่บ้านนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งที่เพิ่งเริ่มรวมตัวกันลงมือทำได้แค่ประมาณ 2 เดือนแต่กลับมายอดสั่งทำมากเป็น 100 – 200 ใบ สร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้านไม่น้อยและยังมุ่งมั่นที่จะมีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้สวยงามทันสมัยเหมาะกับการใช้งานในโอกาสต่างๆ มากขึ้น
ในเมื่ออำเภอน้ำยืนขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ดี ทำให้ต้องแวะมาเยือนที่สวนผลไม้แห่งนี้อีกแห่ง นี่คือ “สวนไพศาล ยงปัญญา” แหล่งปลูก ขนุน ลูกดกยันพื้น เก็บผลผลิตได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 2 ตัน ผลใหญ่สุดเคยชั่งได้สูงสุดหนักมากถึง 30 กิโลกรัมต่อลูก แถมการดูแลง่ายไม่ยุ่งยาก จากการที่เราได้พูดคุยกับคุณนิ่มนวล ยงปัญญา เจ้าของสวนไพศาล ยงปัญญา เจ้าของสวยขนาดนี้ แต่กลับมาทำไรทำสวน ต้องสืบเคล็ดลับการทำสวนให้ประสบความสำเร็จมาฝากทุกคนแน่นอน
คุณนิ่มนวล ยงปัญญา เจ้าของสวนไพศาล ยงปัญญา ได้เล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นทำสวนว่า ในเดิมทีก็ทำสวนผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ อะไรขายได้ดี ก็ปลูกแบบนั้น แต่ด้วยความเป็นพืชเศรษฐกิจทำให้ความแปรผันทางด้านราคามีผลต่อผลผลิตและการลงทุน รวมทั้งการดูแลผลไม้บางประเภทดูแลยาก ต้องใช้เวลาในการดูแลมาก ซึ่งทางคุณนิ่มนวล เล็งเห็นว่า หากเป็นแบบนี้อาจจะทำให้การทำสวนไพศาลอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงได้ปรับแผนการปลูกใหม่ เป็นการเลือกปลุกผลไม้ที่ดูแลง่าย ไม่ต้องการการดูแลหรือไม่ต้องใช้คนงานในการดูแลมาก เพราะปัญหาหลักๆ ของสวนนี้คือ การขาดแคลนแรงงาน ส่วนใหญ่คุณนิ่มนวลจะเป็นคนดูแลร่วมกับคุณไพศาลซึ่งเป็นสามี ทำให้ต้องเลือกเป็นผลไม้ที่ปลูกแลดูแลง่ายจะเหมาะสมกับการดำรงชีวิตมากกว่า บทสรุปไปลงเอยที่ ขนุน ซึ่งเป็นผลไม้ที่ได้ผลดี และไม่ต้องเสียเวลาดูแลมาก แต่หากจะรอผลผลิตของขนุนเพียงอย่างเดียวก็อาจจะช้าไป ทำให้คุณนิ่มนวล ได้เริ่มคิดทำสวนเป็นแบบผสมผสาน ได้มีการปลูกพืชแซมระหว่างขนุน เช่น กล้วย เพราะกล้วยออกผลเร็ว ประมาณ 7-8 เดือนก็สามารถจำหน่ายได้ ทำให้มีรายได้ระหว่างรอผลขนุน ต่อมาจึงได้มีการขยับขยายแต่ยังคงใช้แนวคิดเดิม คือ เลือกปลูกผลไม้ที่ดูแลง่ายเป็นหลัก ได้มีการขยายสวนไปปลูก ฝรั่งและสัปปะรดเพิ่มเติม ซึ่งคุณนิ่มนวลได้บอกกับเราว่า ผลไม้ที่นี่จะมีรสชาติหวานกว่าที่อื่นเนื่องจากมีดินที่ดี ถือเป็นความโชคดีของสวนไพศาล การตอบรับและรายได้จึงออกมาดี และที่สวนไพศาลกำลังจะมีโครงการต่อยอดทำเป็นโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมอีกด้วย ถ้าได้มาพักที่นี้ ได้นั่งมองผลไม้เต็มสวนแบบนี้ จัดว่าเป็น ชีวิตดี๊ดี จริงๆ
ก่อนตะวันจะลับฟ้า เรามีอีกจุดหนึ่งที่เราตั้งใจว่าจะต้องไปเยือนให้ได้ นั่นคือ จุดชมวิวที่วัดภูน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่ วัดป่าคีรีบรรพต หรือ วัดภูน้อย ทางขึ้นไปยังจุดชมวิวต้องวัดใจกันหน่อย เพราะต้องเดินขึ้นบันไดทั้งหมด 199 ขั้น ถึงจะไปถึงจุดชมวิวด้านบน และยังเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานองค์ใหญ่ จากจุดนี้ คุณจะได้เห็นทัศนียภาพของ อ.น้ำยืน ได้แบบ 360 องศา และยังสามารถมองเห็นที่ตั้งของเขาพระวิหาร ประเทศกัมพูชาอีกด้วย และเมื่อชมวิวกันเสร็จแล้ว ที่บริเวณนี้มีจุดจัดกิจกรรมไว้รอให้ทุกท่านได้ไปร่วมกิจกรรมกันแบบไม่ยาก คือ การปลูกป่าโดยใช้หนังสติ๊กอันใหญ่ ฟังแล้วเหมือนธรรมดาทั่วไป แต่กระสุนที่ใช้ คือ เมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ เมื่อหล่นลงยังพื้นดิน ก็จะเติบโตกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์มากขึ้น ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและน่ายกย่องมาก ถือว่า การเที่ยวในอำเภอน้ำยืน ได้ทั้งความสนุก ได้ทั้งความรู้และได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ เที่ยวอุบลครั้งหน้า ต้องมาเยือนน้ำยืนกันให้ได้นะคะ
#OTOPนวัตวิถี #กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย #ไทยนิยมยั่งยืน